Share this :

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน: คนละเรื่องเดียวกัน?” ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในงานมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสวนาอย่างเข้มข้น ผู้เข้าฟังเสวนาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเนื้อหาน่าสนใจและสนุกมาก ขนาดที่ว่าหมดเวลาเสวนายังต้องคุยต่อ อยากรู้ว่าพูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง เราเก็บเนื้อหาจากงานเสวนามาฝากทุกคนแล้ว

งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มากล่าวเปิดงาน โดยดร.กาญจนากล่าวว่า

“Circular Economy เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG การขับเคลื่อน Circular Economy ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการจัดการขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์และระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์”

1 ปีที่ผ่านมามีการร่างกลไกการขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนนโยบาย BCG โดยเฉพาะด้าน Circular Economy ซึ่งอว. ทำงานร่วมกับรัฐบาลในการส่งเสริมการวิจัยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส่วนสอวช. มีโครงการสนับสนุน Circular Economy หลายโครงการ เช่น การสร้าง CE Champion สร้างเครือข่าย การทำวิจัย ศึกษาแนวทางแก้ปัญหา การทำ Circular Economy Platform และช่วยผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนจาก Linear สู่ Circular Economy ผลักดัน Sandbox ในเรื่อง Circular Economy นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีภาคเอกชนหลายแห่งที่ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่

ในช่วงการเสวนาได้รับเกียรติจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสวนา 5 ท่าน ได้แก่

– คุณอรนุช รัตนะ รักษาการผู้อำนวยฝ่ายกลยุทธ์และการงบประมาณองค์กร สอวช.

– อ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย Circular Economy for Waste-free Thailand มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

– คุณปานรวี มีทรัพย์ ผู้จัดการนโยบายการจัดการขยะพลาสติก WWF Thailand

– คุณณัฏฐินี เนตรอำไพ ผู้จัดการส่วนอาวุโส ส่วนองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์​ กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

– คุณนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

และมีดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและ Conservation Director, Rereef เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย คุณอรนุช รัตนะ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการงบประมาณองค์กร สอวช.

“การขับเคลื่อน Circular ที่เหมาะสมสำหรับไทยอาจจะเป็นการทำงาน 2 แนวทางควบคู่กัน อย่างแรกคือการจัดการปัญหาเดิมๆ เช่น ขยะ การใช้ทรัพยากรยังไม่เต็มประสิทธิภาพ อย่างที่สองคือการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหาทรัพยากรในประเทศ ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ”

บางคนอาจจะยังสงสัยว่า Circular Economy มีความสำคัญอย่างไร นั่นก็เพราะในตอนนี้มีปัญหาด้านทรัพยากร คือทรัพยากรไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ต้นทุนทางทรัพยากรกลายเป็นภาระของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจจากการทำ Circular Economy คือการช่วยประหยัดต้นทุนทรัพยากรในเรื่องวัตถุดิบ การสร้างรายได้ใหม่ๆ โมเดลใหม่ๆ

ความจำเป็นของ Circular Economy

หลักการของ Circular Economy และตัวอย่างธุรกิจ

Circular Economy ทำให้ทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด โดยมีหลักการคือ การลดการใช้วัตถุดิบใหม่ การคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ของส่วนประกอบและวัสดุ และการลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจนำแนวคิดนี้มาใช้ เช่น

  • การใช้ทรัพยากรน้อย: Terra Cycle มีระบบเก็บขยะที่รีไซเคิลยาก เช่น อะลูมิเนียม กระดาษ ห่อขนม นำมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการลดการใช้วัตถุดิบใหม่
  • การคงคุณค่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์: แบรนด์เสื้อผ้า Patagonia รับเปลี่ยน คืน ซ่อมแซมและซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง

การเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน: Phillips เปลี่ยนจากการขายหลอดไฟเป็นหลอดๆ มาเป็นบริการขายแสงสว่าง pay-per-lux

การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

จากข้อมูลของ OECD ประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่ยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ปัญหาขยะ ปัจจุบันมีของเสียที่นำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิลแค่ 44% ที่เหลือมีทั้งที่ทิ้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งน่าเสียดายเพราะหากสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นวัตถุดิบได้ทั้งหมดจะลดต้นทุนได้มากถึง 2.2 แสนล้านบาท

ดังนั้นการขับเคลื่อน Circular Economy ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยอาจจะเป็นการทำงาน 2 แนวทางควบคู่กัน อย่างแรกคือการจัดการปัญหาเดิมๆ เช่น ขยะ การใช้ทรัพยากรยังไม่เต็มประสิทธิภาพ อย่างที่สองคือการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหาทรัพยากรในประเทศ ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ

โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่างที่ส่งเสริม Circular Economy คือ นโยบาย ปัจจัยเอื้อ และการสร้างความร่วมมือกับประชาชน ซึ่งทีม อว. พยายามถอดบทเรียนจากต่างประเทศว่ามีปัจจัยเอื้ออะไรบ้างที่ทำให้ภาครัฐและเอกชนทำงานด้าน Circular Economy ได้ และได้ออกแบบกลไกเพื่อส่งเสริมปัจจัยเอื้อ ได้แก่

  • CE Champion หาโมเดลเพื่อทำงานร่วมกันใน Value Chain ขยายผล ให้ทุนวิจัยสนับสนุนโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับ Value Chain ให้เป็น Circular Economy ของเอกชน
  • CE Platform สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงความรู้ สนับสนุนผู้เล่นกลุ่มต่างๆ
  • CE R&D หาเทคโนโลยีหรือโจทย์วิจัยมาเพิ่มเติมเพื่อสร้าง Circular Economy ในบางภาคส่วนให้เกิดขึ้น

CE Citizen มีรายวิชาศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับ Circular Economy ในมหาวิทยาลัย สร้าง Active Citizen และตลาดด้าน Circular Economy

ติดตามเรื่อง EPR กับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยและเรียนรู้การขับเคลื่อน Circular Economy ของประเทศมาเลเซียได้ในตอนที่ 2

Share this :