Share this :

Refill Shop  ในจุฬาฯ มีด้วยหรอ 

มีตั้งแต่เมื่อไหร่กัน!?

วันนี้ทีม Chula Zero Waste จะพาทุกคนไปคุยกับพี่พั่น – พิมพ์รมัย หาราชัย  ที่ร้าน Greenherich เจาะลึกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise; SE) ด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Refill Shop ที่พยายามจะลดขยะและเสริมสร้างการพฤติกรรมการบริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“Refill Shop เป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่ได้เชื่อว่า เราควรไปบังคับให้ทุกคนทำแบบที่เราต้องการ 100% ได้เดี๋ยวนั้น ฉันไม่ได้พกขวดมาวันนี้ แต่ครั้งหน้าจะพกมา ฉันเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่คุณพยายามจะสื่อสาร คือ เราควรจะต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนที่เห็นร้านเรา เขาอาจจะไม่ได้พกขวดมาที่ร้านเราในครั้งแรกนี้ แต่เขาอาจจะไปเริ่มลดใช้หลอดที่อื่น จากการที่เขาได้เห็นธุรกิจเรา” คุณพั่น  Co-founder ของ Greenherich เชื่อว่าลูกค้าหลายคนที่มาครั้งแรก กลับออกไปด้วยความคิดแบบนี้ หวังให้ร้าน Greenherich เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมได้

เริ่มสงสัยแล้วว่าอะไรที่ทำให้คุณพั่นอยากริเริ่มโปรเจคนี้

 

01 แรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้น

“มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ

อย่างแรกคือ ในปี 2017 ได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัด แล้วเจอชาวบ้านขนแชมพูเป็นแกลลอนๆ มาให้เราแบ่งขาย การที่เราได้ลองใช้แชมพูนั้นมันทลายความยึดติดกับรูปแบบการบริโภคที่ผ่านๆ มาออกไปหมดเลย ด้วยความเคยชินกับวิถีคนเมืองอะเนอะ เราก็จะคุ้นกับการเข้าไปซื้อแชมพูทีละขวดในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่พอมาเจอชาวบ้านกวนแชมพูใช้เองกลายเป็นทำให้เราคิดว่า เออของบ้านๆ เราก็ใช้แบบที่ไม่ต้องใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ทุกครั้งก็ได้นี่นา

แรงบันดาลใจที่ สอง

วิถีชีวิตเราสร้างขยะโดยเปล่าประโยชน์ มันเลยทำให้เราเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ มองหาทางออกที่จะช่วยให้เราลดขยะในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น เริ่มลดใช้หลอด พกแก้วของตัวเอง สร้างพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของตัวเอง หลังจากนั้นก็ได้ไปเห็นตัวอย่างร้าน Refill ในต่างประเทศ ก็เริ่มสนใจมากขึ้น สงสัยว่าทำไมในไทยไม่มีร้านแบบนี้บ้าง เพราะจริงๆ แล้วเราก็ต้องการแค่ผลิตภัณฑ์ ทำไมไม่มีร้านที่เอื้อให้เราสร้างพฤติกรรมการเติม การใช้ซ้ำแบบนี้เยอะๆ นะ ก็เลยคิดว่า เออ ที่ต่างประเทศทำได้ เราก็น่าจะทำได้บ้าง หลังจากนั้นก็ได้รู้จักกับร้าน Refill อื่นๆ ที่เป็นผู้บุกเบิก Refill Shop ในไทยให้เราลองศึกษาโมเดลธุรกิจนี้ดู เราก็เลยคิดว่า อยากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนได้ลดการสร้างขยะผ่านการปรับเปลี่ยนการบริโภค”

02 การจับจ่ายใช้สอยในร้าน Greenherich แตกต่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปยังไง?

“อย่างแรกต้องพูดถึง Concept หรือแนวความคิดของร้านก่อน
เพราะเราเน้น 2 อย่าง คือ

1 การใช้ซ้ำ (Reuse) 

2 การเติม (Refill)

ความตั้งใจของเรา คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ชี้ให้เห็นเขาคุณค่าของบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ ย้ำอีกครั้งว่ามันยังใช้ซ้ำได้นะ 

เพราะฉะนั้น วิธีการซื้อก็คือ (ถ้าใจมี ฮ่าๆ) เอาขวดที่บ้านมาซื้อผลิตภัณฑ์แบบเติมกลับไป ถ้าลืมเอาขวดมาเอง เราก็มีขวดพลาสติกเตรียมไว้ให้ใช้ฟรี ล้างและตากแดดแล้วเรียบร้อย มีทั้งขวดน้ำเปล่า ขวดปั้มบ้าง แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกไป”

จากที่สังเกตุเห็น ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในร้านมีหลายประเภท โซน Refill จะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย เช่น แชมพู สบู่อาบน้ำ ครีมทาผิว เม็ดยาสีฟัน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านจะมีน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างรถ น้ำยาขจัดกลิ่นอับจากสัตว์เลี้ยง อยากให้ทุกคนได้มาลองเลือก ลองดมดูเอง จะได้อ่านป้ายสรรพคุณติดอยู่ที่แกลลอนทุกขวดได้ตามใจ

ก่อนจะเติมใส่ขวดก็ต้องมาชั่งน้ำหนักขวดเปล่าก่อน วางบนละเครื่องชั่งแล้วกด Tare / Set Zero เพื่อลบน้ำหนักขวดทิ้ง เพราะทางร้านจะคิดเงินเฉพาะค่าผลิตภัณฑ์ตามน้ำหนักเท่านั้น

ส่วนอีกโซน จะเป็นขายสินค้าใช้ซ้ำ หลอดแสตนเลส แปรงล้างหลอด ปิ่นโต ใยบวบธรรมชาติใช้ขัดตัว กล่องข้าวและแก้วน้ำซิลิโคน รวมๆ แล้วก็จะเป็นสินค้าที่ช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมการใช้ซ้ำของเรา เพราะทำมาจากวัสดุที่ทนทาน ใช้ได้หลายรอบมากกว่า

03 ตั้งแต่เปิดร้านมา ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

“ร้านนี้เริ่มเขียนแผนตั้งแต่ 2018 ได้เริ่ม launch project ตอนปลายปี 2018 และเปิดจริงๆ ปี 2019 ก็ประมาณ 4 ปีกว่าแล้ว ช่วงแรกรูปแบบร้าน คือ การไปออกบูธตามงานต่างๆ เอาแกลลอนไปตั้ง บางทีก็ขนไปเป็นรถเหมือน Food Truck แต่ในรถจะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ Refill คนที่เข้ามาคุยกับเรา 99% จะเห็นด้วยและสนับสนุน ส่วนมากจะเป็นเด็กนักศึกษา เข้ามาชมว่าร้านน่ารักจังเลย เพราะสมัยก่อนเราขายขนมด้วย เป็นพวกขนมตักเอามาชั่งน้ำหนักขาย หรือแม่ลูกอ่อนและผู้สูงอายุก็มีมาซื้อนะ เขาโอเคมากๆ ที่มีธุรกิจอย่างเราอยู่”

คุณพั่นเล่าว่าไปออกบูธหลายงานจนทาง Siam Discovery มาเห็น เขาเลยชวนไปเปิดร้านที่นั่น เลยตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจเต็มตัว จากนั้นช่วงปลายปี 2019 ก็ได้ไปเปิดที่สามย่านมิตรทาวน์ และพอช่วงปี 2021 ก็ได้ย้ายมาเปิดที่อาคารศศินทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบัน แต่ตอนย้ายมาศศินทร์ก็ตะกุกตะกักเพราะเป็นช่วงโควิดพอดี ร้านปิด ไม่ได้ทำแบบเต็มตัวเท่าไหร่

ชวนลูกค้าให้คิดก่อนซื้อได้ แต่ต้องแลกกับการหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำ

“ถ้าเรามาดูในเชิงเศรษฐกิจ Refill Shop มันไม่ได้ตอบโจทย์ความสะดวกสบายหรือความรวดเร็วของการบริโภคในยุคนี้ และเอาจริงๆ ค่อนข้างที่จะสวนทางด้วยซ้ำ เพราะเรา (Greenherich) อยากให้คนซื้อ ‘mindful’ อยากให้คิดก่อนซื้อเยอะๆ อยากให้ใช้ของที่มีอยู่อย่างมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าให้พูดเรื่องเกี่ยวกับผลตอบรับในเชิงธุรกิจ มันก็ไม่ค่อยอยู่ตัวเท่าไหร่ ต้องบอกว่าเราใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำ” 

แต่ถ้ากลับมามองในแง่ที่ร้านได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาความตระหนักทางสิ่งแวดล้อม คุณพั่นบอกว่าผลตอบรับด้านนี้เราทำได้ดีมาก

“มีอาจารย์จากคณะวิศวะฯ มาประชุมแถวนี้ เห็นร้านเลยแวะเข้ามาคุย มาซื้อของซื้อแก้วไป เสร็จแล้วก็หายไป กลับมาประชุมอีกรอบ แต่คร่าวนี้เขาก็ถือขวดมาด้วย 3 ขวดเพื่อที่จะมาเติมของในร้าน เราปลื้มมากวันนั้น เขาจำเราได้และจดเอาไว้ในใจว่าวันนี้ฉันจะมาประชุมที่นี้และฉันจะเอาขวดมา เวลาเจอลูกค้าแบบนี้มันปลื้มนะ มันรู้สึกดี แต่ถ้าถามว่าคนนี้เป็น 1 ในล้าน หรือ 70 ล้านรึเปล่า (ฮ่าๆ) แต่เอาจริงๆ แค่คนเดียวก็ถือว่าดีขึ้นแล้วนะ”

04 อุปสรรคของการทำธุรกิจนี้คืออะไร

“ส่วนตัวหลักๆ น่าจะเป็นเรื่องเวลา เพราะตอนนี้เรียนอยู่ด้วย” 

คุณพั่น จบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา Industrial Design (ศิลปอุตสาหกรรม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

และกำลังเรียนปริญญาโท คณะสิ่งแวดล้อม สาขาการจัดการเมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังจะจบปีนี้แล้วแต่เวลาที่ยังต้องแบ่งให้กับการเรียนก็เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจไปด้วย

“จะทำออนไลน์ ถ้าจะทำให้ดีมันก็ควรจะมี specialist อีกคน เราก็ทำได้แบบบ้านๆ ถ่ายรูป เขียนอะไรของเราไป ทุกอย่างมันต้องใช้หัวคิด พื้นฐานเป็นคนคิดเยอะด้วย คิดจะสื่อสารออกมาแบบไหน อยากจะให้ภาพออกมาเป็นแบบไหน จะต้องมีเป้าหมายในการสื่อสาร แล้วที่เรียนป.โทอยู่ก็ต้องคิด มันเลยต้องคิดเยอะไปหมด”

หลักๆ แล้วอุปสรรคมันก็คือโจทย์นี้ : เราจะทำให้ร้านอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

“ความยั่งยืนมี 3 ขา ด้านสังคม (Social) ด้านเศรษฐกิจ (Economic) และด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)  เราค่อนข้างถนัดในด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม แต่ด้านเศรษฐกิจนี้แหละที่เราคิดว่ามันไม่ค่อยสอดคล้อง และอุปสรรคต่อด้านเศรษฐกิจก็คือโมเดลของ Refill Shop : การใช้ซ้ำ การค่อยๆ เติม มันแข่งไม่ทันคนอื่น ถ้าจะเพิ่มยอดขายให้ไม่ย้อนแย้งกับโมเดลร้าน ก็ต้องขายน้ำยาเป็นแกลลอนๆ ไปเลย เช่นจุฬาฯ หรือองค์กรใหญ่ที่ไหนก็ตามต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว สนใจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมไหม? ถ้าสนใจ เราก็สามารถขยับขยายการขายไปตรงนั้นได้”

ได้เป็นอีก 1 แรงในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน

“ขอเม้าท์นอกเรื่องนิดนึง จะบอกว่าน้ำหมักธรรมชาติดีมากจริงๆ มันอเมซิ่งมาก ปกติล้างห้องน้ำ จะใช้น้ำยาเคมีขัดชักโครก ใช้แล้วแต่มันก็จะยังคราบน้ำอยู่ เมื่อวานเอาน้ำหมักใส่ เออคราบหายหมดเลย ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมประสิทธิภาพมันดีขนาดนี้ แถมพวกน้ำหมักยังช่วยเรื่องกลิ่นเหม็นในท่อระบายน้ำได้ด้วย”

เป็นอีกข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่เราได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนและได้ใช้ของที่สกัดจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

05 แผนงานในอนาคต

“ภาพที่อยากเห็นตัวเองทำในอนาคต คือ การทำโมเดลรีฟีลชุมชน สนับสนุนให้เขาผลิตน้ำยาเอง เป็น Area based ส่งขายเองให้กับหมู่บ้านแถวๆ นั้น ไอเดียนี้ได้มาจากการรับฟังความเห็นหลายคนเวลาไปทำ Workshop เขามักจะพูดว่า ชอบร้านมากเลย แต่เดินทางมาร้านลำบากมาก บ้านอยู่สุขาภิบาล 2 จะให้มาจุฬาฯ ก็ไกลไป ก็เลยคิดว่าถ้ามีคนในชุมชนแถวนั้นมีใจอยากลดขยะและอยากสร้างธุรกิจชุมชนเป็นของตัวเอง เราก็อาจจะไปช่วยเขาตั้งไข่ร้าน Refill Shop ในชุมชนนั้นๆ ได้ อาจจะจับมือกับมหาลัย ลงพื้นที่ไปสอนคนที่สนใจ เปลือกสับปะรด เปลือกผลไม้ที่เอามาทำน้ำหมักก็ใช้ของจากในชุมชนได้ ให้มันเป็น Area Based ควรมีร้านแบบนี้อยู่ทุกชุมชนคนจะได้เข้าถึงได้ อีกอย่างที่อยากทำก็ คือ Refill Vending Machine”

วันนี้ขอบคุณพี่พั่นมากๆ ที่มาเล่าเรื่องร้านให้เราฟัง เราถือว่า พี่พั่นและทีม Greenherich เป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมในการสร้างวิถีการบริโภคแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับคนที่อยากหันมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง ลดขยะมากขึ้น ใซ้ซ้ำมากขึ้น ชาวจุฬาฯ ทั้งนิสิตและบุคลากร หรือใครก็ตามที่มาแถวศศินทร์ อย่าลืมแวะมาที่ร้าน Greenherich กันนะ! นำขวดใช้ซ้ำติดมือมาด้วยหละ เผื่อแวะเข้ามาดูแล้วอยากซื้อผลิตภัณฑ์ไหนกลับไปลองใช้!

 

ติดต่อ

Line Official : @greenherit
Facebook : https://www.facebook.com/Greenherich/
Instagram : greenherich / https://www.instagram.com/greenherich/

วันเวลาเปิด-ปิด

จันทร์ – ศุกร์
10:00 – 18:00 น.

ที่อยู่ร้าน

อาคารศศปาฐศาลา ซอยจุฬา 12 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
(ตึกของ Sasin School of Management สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์)

อยู่ตรงโซนสีเหลืองๆ ตรง Common Area
Google Map: https://goo.gl/maps/yT9L1cqUZixpDBbg8

Share this :