Share this :

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 Chula Zero Waste จัดงานเสวนา “ผลกระทบของโลกร้อนที่ตอกย้ำในรายงาน IPCC 2021: ไทยพร้อมรับมือเพียงใด” มีวิทยากรจากหลายภาคส่วนมาร่วมเสวนา งานนี้ได้เริ่มต้นประเด็นโดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านการอนุรักษ์และนักเขียนบทความด้านสิ่งแวดล้อม ที่มาบอกถึงโครงสร้างการทำงานขององค์กร Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) และเนื้อหาสำคัญของรายงานส่วนแรกของ IPCC AR6 Report หรือที่เรียกว่า Climate Change 2021: The Physical Science Basis ซึ่งเผยแพร่ออกมาวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

IPCC เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งในปี 1988 โดยองค์กรสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (United Nation) จับมือกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) มีต้นกำเนิดจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งคำถามมากว่า 50 ปี

IPCC แบ่งกลุ่มคณะทำงานหรือ Technical Support Unit (TSU) เป็น 3 คณะหลัก ประกอบไปด้วย

  • Working group ที่ 1: The Physical Science Basis ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นคณะทำงานที่เผยแพร่ข้อมูลสรุปในส่วนแรกของรายงาน AR6 ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการจัดเสวนาครั้งนี้
  • Working group ที่ 2: Impacts, Adaptation and Vulnerabillity ศึกษาผลกระทบ การปรับตัว และการประเมินมูลค่า
  • Working group ที่ 3: Mitigation of Climate Change ศึกษามาตรการลดก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งรายงานที่นำมาพูดคุยในงานเสวนาครั้งนี้จะเป็นรายงานจาก Working group ที่ 1: The Physical Science Basis มีการรวบรวมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์แล้วกว่า 14,000 ฉบับ มีนักวิจัยร่วมเขียนขึ้น 234 คนจาก 65 ประเทศ และมีผู้ตรวจสอบรายงานฉบับนี้อีกกว่า 78,000 ข้อคิดเห็นใน 46 ประเทศ รวมถึงมีตัวแทนจากรัฐบาลในแต่ละประเทศร่วมพิจารณาด้วย ทำให้ผลของการศึกษาของ IPCC มีความน่าเชื่อถือสูงและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ

ส่วนรายงานของ Working group ที่ 2 และ 3 และรายงานสรุปรวมทั้ง 3 Working group มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2022

(IPCC, 2021; นำเสนอโดย ดร.เพชร มโนปวิตร)

สรุปเนื้อความสำคัญในรายงาน IPCC AR6 Climate Change 2021: The Physical Science Basis ได้ดังนี้

  1. โลกร้อนขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียสและมนุษย์เป็นสาเหตุอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง  หากตัดปัจจัยจากมนุษย์ออก คาดว่าโลกจะอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 0.6 องศาเท่านั้น
  2. ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในรอบ 2 ล้านปี ตามที่มนุษยชาติได้เคยศึกษาไว้ ไม่เคยมียุคสมัยที่คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การกำเนิดโลก ทำให้คาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตได้ยาก
  3. สภาพอากาศสุดขั้วกำลังรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  4. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตถึง 3 เท่า ภายในศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2 เมตร และอาจสูงขึ้นถึง 5 เมตรในปี 2150 ในขณะที่มหานครของโลกหลายแห่งมักอยู่ใกล้ทะเล เช่น นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ ดูไบ หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร และเป็นครั้งแรกที่ IPCC สรุปออกมายืนยันชัดเจนเกี่ยวกับ Sea level rise
  5. คลื่นความร้อนในมหาสมุทรจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม 4 เท่า คลื่นความร้อนในมหาสมุทร (Marine heat wave) ทำให้ส่งผลถึงระบบนิเวศทางทะเล และยังไม่รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น อาทิ คลื่นความร้อน (Extreme Heat) ฝนตกหนัก (Heavy rainfall) ความแห้งแล้ง (Droght) และสภาวะที่ก่อให้เกิดไฟป่า (Fire weather)
  6. การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว
  7. การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว แม้ว่าโลกจะเลิกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทันทีก็ตาม ตามที่เวทีโลกเคยตั้งความหวังกับการสกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) แต่รายงานฉบับนี้ก็ได้ออกมาบอกชัดว่าเราไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ตามความคาดหวังเดิม
  8. งบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ที่เหลืออยู่ แสดงให้เห็นถึงจำนวนปีที่เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา ตารางข้อมูลด้านล่างแสดงถึงอุณหภูมิเคยเพิ่มขึ้นช่วงปี 1850-1900 และ 2010-2019 หากโลกต้องการควบคุมให้อุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะเหลืองบประมาณคาร์บอนที่สามารถปล่อยได้เพียง 500 กิกะตันคาร์บอน หากเทียบกับอัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันที่อยู่ปีละ 40 กิกะตัน เราจะเหลือเวลาเพียง 12 ปีเท่านั้น

(หมายเหตุ: ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นมีค่าความเป็นไปได้ที่ 50% และงบประมาณคาร์บอนมีแนวโน้มลดลงเมื่อค่าความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลชุดนี้ยังเป็น uncharted territory หรืออยู่ในสถานะที่ไม่ทราบถึงเหตุการณ์ที่อาจเป็นตัวเร่งให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในอนาคต)

(IPCC, 2021; นำเสนอโดย ดร.เพชร มโนปวิตร)

โมเดลจำลองอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงปี พบว่าแถบอาร์กติกจะมีสีแดงเข้มที่สุด แสดงถึงผลกระทบที่ได้รับมากกว่าบริเวณอื่น (IPCC, 2021; นำเสนอโดย ดร.เพชร มโนปวิตร)

รายงาน IPCC Climate Change 2021: The Physical Science Basis ฉบับนี้ ถือว่าเป็น “Red code” หรือสัญญาณเตือนสุดท้ายของโลก ซึ่งพอดีกับช่วงเวลาก่อนที่จะมีการประชุม Conference of Parties ครั้งที่ 26 (COP26) หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นความหวังสุดท้ายในการร่วมมือระหว่างประเทศก่อนที่จะสายมากไปกว่านี้ ตามที่คุณ António Guterres เลขาธิการของสหประชาชาติได้ออกมากล่าวว่า

“If we combined forces now, we can avert climate catastrophe. But, as today’s report makes clear, there is no time for delay and no room for excuses. I count on government leaders and all stakeholders to ensure COP26 is a success”

“หากเราร่วมพลังกันตอนนี้ เราจะสามารถหยุดยั้งมหันตภัยทางภูมิอากาศได้ แต่รายงานฉบับนี้ได้บอกอย่างชัดเจนว่าหมดเวลารีรอหรือหาข้อแก้ตัวแล้ว ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าบรรดาผู้นำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนจะทำให้การประชุม COP26 ครั้งนี้สำเร็จอย่างแน่นอน”



ถัดมาเป็นการบรรยายของ ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนมาหลายสิบปี และเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาวิเคราะห์รายงาน IPCC AR6 ฉบับล่าสุดใน Facebook Live: Thon Thamrongnawasawat

อ.ธรณ์กล่าวถึงบทบาทของนักวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อมว่า “ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน (Global warming) หรือ Climate Change คนที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์นะครับ ขอให้เข้าใจไว้ก่อน ยิ่งโลกร้อนนักวิทยาศาสตร์ยิ่งต้องทำงานหนัก แต่ภาคธุรกิจ ขนส่ง และอุตสาหกรรมต่างหากที่จะต้องปรับตัวให้ทันอย่างฉับพลัน”

แบบจำลองด้านล่างแสดงถึงความเป็นไปได้ในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต โดยแกนตั้งคือปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ (กิกะตันคาร์บอนต่อปี) และแนวนอนคือปีคริสต์ศักราช โดยปี 2015 โลกมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 40 กิกะตันคาร์บอน

(IPCC, 2021; นำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

จากภาพจะเห็นความเป็นไปได้ทั้งหมด 5 เหตุการณ์ โดยเส้นสีแดงด้านบนสุดแสดงถึงเหตุการณ์ที่โลกยังดำเนินไปโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร จะพบว่าในปี 2100 จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 130 กิกะตันหรือมากกว่าปัจจุบัน 3 เท่า

เส้นเหตุการณ์ที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดคือสองเส้นด้านล่าง โดยทั้งสองเส้นจะมีจุดตัดแกนนอน บ่งบอกว่าโลกเข้าสู่สภาวะ Net zero หรือการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงปี 2055-2075

อ.ธรณ์กล่าวสมทบว่า “ตอนนี้เราไม่สามารถหยุดยั้งโลกร้อนได้อีกแล้ว* เราทำได้เพียงผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น (*กล่าวคือ ถึงแม้จะเริ่มแก้ปัญหาตอนนี้ โลกก็ยังคงมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2040 ตามรายงานฉบับล่าสุด)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกับทะเลและมหาสมุทร ทั้งการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร (Marine Heat wave) การเกิดปรากฎการณ์ทะเลเป็นกรด (Ocean acidification) การเกิดพายุขนาดใหญ่ (Extreme stom events) และการเกิดปรากฏการณ์ออกซิเจนในทะเลลดต่ำลง (Ocean-deoxygenation) เป็นต้น

(งานนำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล มีดังนี้

  1. ผลกระทบกับแนวปะการัง (Coral Reefs) เกิดปะการังฟอกขาว ปะการังโดนกัดกร่อนจากทะเลที่เป็นกรดมากขึ้น และปะการังแตกหักจากคลื่นลมมหาสมุทรที่รุนแรงมากขึ้น
  2. ผลกระทบกับทะเลเขตขั้วโลก (Polar seas) ในเดือนกันยายนจะมีความร้อนสูงสุดในเขตขั้วโลกเหนือ อาจส่งผลรุนแรงจนไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย นำมาซึ่งผลกระทบโดยตรงกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
  3. ผลกระทบกับการประมง (Fisheries) สัตว์น้ำที่มีเปลือกไม่สามารถดำรงอยู่ได้เนื่องจากทะเลเป็นกรด และมีการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ จนคนท้องถิ่นไม่สามารถทำประมงได้เหมือนเดิม


ปะการังฟอกขาวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกร้อนที่มองเห็นหลักฐานได้ชัดที่สุด จากประสบการณ์ทำงาน ของอ.ธรณ์ เจ้าตัวได้กล่าวว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ปะการังฟอกขาวได้มากเท่าครั้งนี้ ภาพด้านล่างมาจากโดรนถ่ายปะการังในเกาะภาคตะวันออกของไทย เมื่อนำภาพจากเดือนพฤษภาคม(ซ้าย) เทียบกับเดือนสิงหาคม(ขวา) พบว่าปะการังได้เปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งหมด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 36-37 องศาเซลเซียสจากคลื่นความร้อนมหาสมุทรที่รุนแรง ซึ่งอุณหภูมิจะเพิ่มได้ง่ายขึ้นเมื่อเข้าเขตทะเลแถบน้ำตื้นหรือบริเวณผิวน้ำ

(ภาพโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

หลังจากการฟอกขาว ปะการังจะค่อยๆ ตายและมีสาหร่ายขึ้นมาแทนที่ เม่นทะเลและปลิงทะเลในบริเวณก็ถูกจับทำให้ไม่มีสัตว์มาช่วยกินสาหร่าย ประกอบกับปุ๋ยเคมีที่ถูกฝนชะลงทะเลก็ยิ่งทำให้สาหร่ายโตเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลภาคตะวันออกจะลดต่ำลงในช่วงหน้าฝน (ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน) ซึ่งเป็นช่วงที่ปะการังจะฟอกขาวได้ง่ายเป็นพิเศษ

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ไปสู่มหาสมุทรโดยตรงอีกด้วย เช่น การประมงที่มากเกินความจำเป็น การพัฒนาแนวชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสียหรือสารเคมีลงทะเลจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลสีเขียวหรือ Plankton Bloom 

อ.ธรณ์กล่าวต่อว่า “หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าการท่องเที่ยวแนวปะการังก่อนช่วงสถานการณ์โควิดทำรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 8 หมื่นล้านบาท นี่ยังไม่นับการท่องเที่ยวชายทะเลอีกกว่า 3 ล้านล้านบาท ถ้าหากปะการังในไทยตายหมด ต้องส่งผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยวไทยแน่นอน”

“และยังรวมถึงเรื่องของประมงพื้นบ้าน ผลกระทบที่ออกมาไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ บริษัทใหญ่ๆ เงินหายไปหลักสิบล้านก็อาจจะไม่สะเทือนมาก แต่ถ้าเป็นรายได้ของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดหนึ่งหายไปรวมกันหลักสิบล้าน คนที่ได้รับผลกระทบมีมากมหาศาล เพราะฉะนั้นอย่าดูแต่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว”

“ถ้าหัวหน้าครอบครัวไม่สามารถจับปลาได้ ปลาหนีไปหมด สัตว์น้ำตัวเล็กลงเนื่องจากปัญหาต่างๆ รายรับที่เข้ามาในบ้านก็จะน้อยลง ทั้งพ่อและแม่ก็จะต้องทำงานหนักขึ้น ไม่มีเวลามาคอยดูลูก ลูกก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดี ส่งผลไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก ผมขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ปกติเรือหาปลาหนึ่งลำใช้คนสองคน แต่ก่อนคนเป็นพ่อก็จะเรียกเด็กข้างบ้านขึ้นเรือไปด้วย ความรู้และภูมิปัญญาก็จะเกิดการถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น แต่ถ้ารายได้ลดลงจากปลาที่น้อยลง พ่อก็ไม่สามารถจ้างหรือแบ่งปลาให้กับเด็กข้างบ้านได้อีก พ่อก็ต้องให้เด็กข้างบ้านออก ความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดก็ถูกตัดขาด แล้วเปลี่ยนมาเรียกแม่ขึ้นเรือแทน ลูกก็อยู่บ้านคนเดียวไร้คนดูแล ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคม ซึ่งจะถูกตั้งคำถามทีหลังว่าทำไมเด็กหลายคนในสังคมมักเติบโตขึ้นอย่างมีปัญหา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้เราร้อนตายเพียงอย่างเดียว”

การศึกษาหญ้าทะเลถึงความสามารถในการช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และศึกษาวิธีการปลูกถ่ายหญ้าทะเลเพื่อทดแทนเม็ดหญ้าในธรรมชาติที่มีไม่เพียงพอ (ภาพและงานนำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

เรือวิจัยที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ (ภาพและงานนำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Floating solar) แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร (ภาพและงานนำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

รถที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ (ภาพและงานนำเสนอโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

ทางคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความตั้งใจในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกมิติ อาทิ การศึกษาหญ้าทะเลถึงความสามารถในการช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และศึกษาวิธีการปลูกถ่ายหญ้าทะเลเพื่อทดแทนเม็ดหญ้าในธรรมชาติที่มีไม่เพียงพอ มีเรือวิจัยที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ และมีแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Floating solar) แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ได้ ถูกนำมาใช้ในร้านอาหาร “ชอบปลาชุม” และสามารถแบ่งมาชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า (EV car) ได้อีกด้วย

ก่อนจบการบรรยาย อ.ธรณ์ฝากคำถามปิดท้ายถึงนโยบายของไทย “ในขณะที่ประเทศใหญ่ๆ ของโลกเร่งแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยคาร์บอนภายในกรอบปี 2030 ถึงปี 2060 แต่ทำไมประเทศไทยต้องกำหนดให้แผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในช่วงปี 2065-2070 หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีกำลังการผลิตในระดับเดียวกันอย่างอินโดนีเชีย แผนของไทยไม่จำเป็นที่จะต้องล่าช้าถึงขนาดนั้นเลย”


ถัดมาเป็นประเด็นของคุณสิรภพ บุญวานิช นักวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ จากบริษัท Four Twenty Seven, Moody’s ESG Solutions รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่จะมาขยายประเด็นโลกร้อนให้ใกล้ตัวเรามากขึ้น ด้วยคำว่า “ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate risk

หมายเหตุ: สไลด์ประกอบการบรรยายที่คุณสิรภพพูดหรือให้ข้อมูลในงานเสวนาครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท Credit rating และไม่ควรนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการจัดอันดับของบริษัท

คุณสิรภพกล่าวว่า “ต่อเนื่องจากวิทยากรทั้งสองท่านที่ได้พูดคุยกัน วันนี้เราต้องเลิกพูดได้แล้วว่าโลกร้อนเป็นแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วโลกร้อนเป็นเรื่องของปากท้องของทุกคน”

ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate risk) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. Physical Risk ความเสี่ยงทางกายภาพที่เห็นได้ชัดจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ดินถล่ม ชายฝั่งถูกกัดเซาะ เป็นต้น
  2. Transition Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลและเศรษฐกิจ เช่น ในปี 2015 การประมงไทยถูกสหภาพยุโรป (EU) แบนเนื่องจากทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ทำให้ไทยขาดรายได้ในการส่งออกอาหารทะเลจำนวนมาก ก่อนที่จะมีการปลดใบเหลืองในอีก 4 ปีต่อมา

ส่วนความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโลกร้อน ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2023 เป็นผลให้สินค้าที่ไทยส่งออกจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่มขึ้น (หรือกล่าวได้ว่ามีราคาแพงขึ้น) กระทบกับรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศโดยตรง*

(*ข้อมูลข่าว ปี 2566 EU เล็งเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน ส่งออกไทย…ต้องเร่งปรับตัว – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (kasikornresearch.com) พบว่าไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่ม E&E หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่สหภาพยุโรปถึง 40% รองลงมาคือสินค้าเกษตรและอาหาร)

ทำไม Climate Risk ถึงเป็นความเสี่ยงทางการเงิน?

(ที่มา Climate.gov, Financial Times, apnews นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

จากแผนภาพทางด้านซ้ายแสดงว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยเส้นสีดำคือเส้นค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ (เป็นค่าเฉลี่ยของ 5 ปี) ถึงแม้จะไม่ได้เพิ่มตามจำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มโดยรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

จากตัวอย่างข่าวในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีบริษัทไฟฟ้าชื่อว่า PG&E ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลังเกิดไฟป่าครั้งใหญ่จากสายไฟฟ้าของบริษัทลัดวงจร คดีนี้ทำให้บริษัทประกาศล้มละลายเนื่องจากไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้หมด หรือเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างที่เมืองเท็กซัส เนื่องจากต้องประสบกับพายุหิมะหนักเมื่อปีที่ผ่านมา

ทางฝั่งของ NYC (กองทุนบำนาญของนิวยอร์ก) ได้ประกาศถอนตัวจากบริษัทที่ลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) จากแนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาดมากขึ้น และแนวโน้มการผลักให้น้ำมันกลายเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต ทำให้บริษัทที่ผลิตน้ำมันมีแนวโน้มจะขายได้น้อยลง กองทุนบำนาญจึงเลือกที่จะถอนตัวจากความเสี่ยงเหล่านี้ไป

ในส่วนของภาคการลงทุนของประเทศไทยภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกมาประกาศสนับสนุนการออกรายงานข้อมูลกับผู้ถือหุ้นให้รับทราบถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) อย่างเป็นทางการ (ที่มาข่าว sec.or.th)

กลับมาพูดถึง Climate Risk ในประเทศไทย

(ที่มา Four Twenty Seven(1), Four Twenty Seven(2), ZDNet นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

ข้อมูลจากบริษัท Moody’s ESG Solutions แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นอันดับสองของโลก* และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมา เช่น น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและภาคกลางเมื่อปี 2554 ที่ทำให้การส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หยุดชะงักจนตลาดขาดแคลน ทำให้ราคาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของโลกเพิ่มสูงขึ้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อาจทำให้บริษัทที่ลงทุนในไทยเริ่มพิจารณาย้ายที่ตั้งโรงงานไปประเทศอื่น เป็นผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศที่เห็นภาพได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
.
*จัดอันดับโดยใช้ Climate models + ข้อมูลประชากร (population) + GDP + พื้นที่เกษตรกรรม (agricultural areas)

(ที่มา WDR, 2021; นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

รายงาน World Bank Group ได้ทำการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรายงาน IPCC ฉบับเก่า (AR5) พบว่าจำนวนวันที่อุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียสจะมีจำนวนประมาณ 60-70 วันต่อปี แต่ในช่วงปลายศตวรรษนี้ จำนวนวันที่ร้อนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 250 วันต่อปี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนไม่เท่าเดิม จำนวนคนเดินทางน้อยลงเพราะคนอยากอยู่บ้านมากขึ้น อาจมีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และเศรษฐกิจไทย

ส่วนการเกิดภัยแล้ง ในอดีตมีโอกาสการเกิดประมาณ 0.5% แต่ในปีช่วงปลายศตวรรษที่ 20 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 10-20% ไปจนถึง 60% เลยทีเดียว หากประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดภัยแล้งสูง ก็ไม่อาจทำเกษตรกรรมจนส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก

คุณสิรภพย้ำว่า “ถ้าเราหยุดโลกร้อนวันนี้ Climate Risk พวกนี้จะหยุดไหม คำตอบคือไม่หยุดนะครับ สิ่งที่เราทำในอดีตเป็นการล็อกเป้าไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ที่เราหยุดวันนี้ก็เพราะต้องการบรรเทาความรุนแรงลง”

ในกรณีไหนที่ GDP ลดต่ำลงในไทย?

(ที่มา Swiss Re; นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

Swiss Re บริษัทรับประกันภัยต่อ (คือบริษัทที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยทั่วไป ด้วยการรับประกันภัยต่อจากบริษัทเหล่านี้อีกที) สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดอันดับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกับเศรษฐกิจของประเทศ 48 ประเทศ พบว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 44 แสดงว่าไทยมีความเสี่ยงที่สูงมาก โดยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นประกอบจาก 3 ด้านหลักคือ การท่องเที่ยว (Tourism) เกษตรกรรม (Agriculture) และความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น (Heat stress) จนไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ส่วนกราฟทางด้านขวา แสดงถึง GDP ของไทยที่จะลดลง เมื่อมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะเห็นได้ว่าในปี 2048 มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 45% เลยทีเดียว

ในรายงานฉบับล่าสุด (IPCC AR6) ภูมิภาคของเราจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?

(IPCC, 2021; นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

รายงาน IPCC ฉบับล่าสุดพบว่า มรสุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia monsoon) อ่อนกำลังลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 (ช่วงประมาณปี 1950-2000) และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มรสุมอ่อนกำลังลงเพราะ anthropogenic aerosol forcing หรือละอองลอยในอากาศที่ลดลงตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

คุณสิรภพตั้งคำถามว่า “ถ้าฝุ่นละอองลอยหรือตัว PM2.5 สอดคล้องกับการเกิดมรสุม งั้นเราต้องมองการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นเรื่องสำคัญด้วยใช่หรือไม่”

ภาพแบบจำลองด้านขวาจะเห็นได้ว่า ภาคเหนือของไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนภาคกลางและภาคใต้มีแนวโน้มที่จะลดลง ทั้งนี้ ความละเอียดของแบบจำลองมีไม่มากพอที่จะสรุปขอบเขตของพื้นที่ได้อย่างชัดเจน

ผลกระทบด้านภัยแล้งและไฟป่า

(ที่มา Four Twenty Seven; นำเสนอโดย สิรภพ บุญวานิช)

ภาพจาก Four Twenty Seven แสดงให้เห็นถึงพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งและไฟป่า* จากแผนที่ด้านซ้าย พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยแล้งเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะบริเวณสีส้มเข้มที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกของไทย และภาพแผนที่ด้านขวาแสดงถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า ซึ่งจะรุนแรงมากในภาคเหนือของไทย

*ประเมินความเสี่ยงจาก Climate models + ข้อมูลประชากร(population) + ข้อมูลการใช้น้ำ

คุณสิรภพได้สรุปสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติ เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไว้ดังนี้

DO (ควรจะ…)

  1. ลงทุนในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การเพิ่มเซนเซอร์ตรวจจับข้อมูลสภาพภูมิอากาศและอัปเกรดระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติกับประชาชน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
  2. บริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ควรสำรวจตัวเองถึงความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อตัวบริษัท และควรจัดทำ stress test ของทั้งประเทศ เพื่อเตรียมรับมือกับการเกิดภัยพิบัติในแต่ละสาขาพื้นที่
  3. ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงเชิงนโยบายในอนาคตที่อาจทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ เนื่องจากกำแพงภาษีคาร์บอน

DON’T (ไม่ควรจะ…)

  1. ไม่ควรจะลงทุนกับกำแพงกันคลื่น
  2. ไม่ควรจะลงทุนกับการทำฝนเทียม แม้ว่าดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการทำฝนเทียมจะสูงถึง 90% ทุกปี (หรือมีการทำฝนเทียมสำเร็จถึง 90%) แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน
  3. แทนที่จะพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนเองให้ได้มากที่สุด แต่บริษัทหลายแห่งเลือกใช้เงินจ่ายชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์แทน ควรถูกตั้งคำถามว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์บริษัทสีเขียวแค่เปลือกนอก (Greenwashing) หรือไม่
  4. อย่ารีรอให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น ควรลงมือหาทางป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่ภาคบริษัท ชุมชน หมู่บ้าน ไปจนถึงตัวเราเอง ตรวจเช็กอยู่เสมอว่าเราพร้อมรับมือแค่ไหน
  5. ไม่ควรจะทิ้งภาระไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานแก้ไข

 


เข้าสู่ช่วงของวิทยากรท่านสุดท้าย โดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการขับเคลื่อนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ที่ร่วมศึกษานโยบายและกฎหมาย Climate Change จะมาขยายประเด็นต่อเนื่องจากรายงาน IPCC ที่วิทยากรทั้งสามท่านพูดถึง แต่เป็นมิติที่ใกล้ตัวพวกเรายิ่งขึ้นอย่างประเทศไทย

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

รายงาน IPCC ฉบับ AR4 เผยแพร่ออกมาในปี 2007 ได้กล่าวถึงการควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ไม่ใช่เพียงการร่วมมือระหว่างประเทศ Annex I หรือประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเดียว ต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศ Non-Annex I หรือประเทศที่กำลังพัฒนาร่วมด้วย โดยขอความร่วมมือให้ประเทศที่กำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจากเดิมอย่างน้อย 15-30% ภายในปี 2020 ผ่านการประชุม COP13 ที่ถูกจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเชีย ซึ่งเป็นการเจรจาในเวทีโลกครั้งแรกของไทย และมีบทสรุปที่ลงตัวในการประชุม COP21 จนออกมาเป็นข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015

ข้อตกลงปารีสเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไม่มีบทลงโทษ แต่สหประชาชาติก็ได้วางกลไกที่จะผลักดันและกระตุ้นให้แต่ละประเทศมุ่งสู่เป้าหมายด้วยเงื่อนไขต่างๆ อาทิ ให้แต่ละประเทศส่งรายงานเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) ทุก 5 ปี รวมถึงต้องจัดทำรายงานรอบ 2 ปี (Biennial Reports) ให้ติดตามความก้าวหน้าในประเทศของตนเอง และมีการทำ Global stocktake ทุก 5 ปีเพื่อดูผลลัพธ์โดยรวมของประเทศสมาชิก

(ที่มา Thailand Updated NDC; นำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ประเทศไทยส่งรายงาน NDC ครั้งแรกในปี 2016 และมีการส่งฉบับอัปเดตเมื่อปี 2020 โดยมีเนื้อหาหลักในการมุ่งมั่นลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 และอาจลดลงได้ถึง 25% หากได้รับการสนับสนุนในหลายด้านจากประเทศสมาชิก รวมทั้งกล่าวถึงการศึกษาเพื่อจัดทำ Long Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy (LT-LEDS) หรือยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย แต่ NDC ของไทยฉบับนี้ยังไม่มีเป้าที่เข้มข้นชัดเจนนัก ยังอยู่ในสถานะการเฝ้ามองดูประเทศอื่นว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ในปัจจุบันมีประเทศที่ส่ง LT-LEDS ให้กับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) ทั้งหมด 30 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศ Annex-I จำนวน 21 ประเทศ และ Non-annex I จำนวน 9 ประเทศ

โดยประเทศที่จัดทำและเสนอแผน LT-LEDS แล้ว มักกำหนดปีเป้าหมายอยู่ที่ 2050 และมีกลุ่มประเทศที่ตั้งเป้าหมายมุ่งไปสู่ Net-zero ได้แก่ สหภาพยุโรป บราซิล คอสตาริกา หมู่เกาะมาร์เชลล์ และฟิจิ ส่วนประเทศไทย ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่เหมาะสม (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564)

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

โดยผลการศึกษาล่าสุด เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส จะต้องลดลงถึงร้อยละ 52 ในปี 2050 เทียบกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปกติ ซึ่งผลการศึกษานี้มีเป้าหมายที่ต้องลดการปล่อยมากกว่ารายงาน NDC ที่ได้เสนอไป ซึ่งจะถูกนำมาปรับแก้ไขในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ในภาคพลังงาน คาดการณ์ในอนาคตว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นถึง 555 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า (MtCO2eq) ซึ่งจากปริมาณดังกล่าว ควรลดลงมาร้อยละ 60 ภายในปี 2050 หากจำแนกถึงประเภทของทรัพยากรในภาคการผลิตไฟฟ้า จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 49 และจากถ่านหินร้อยละ 90 ภายในปี 2050 โดยข้อมูลที่กล่าวมายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเป็นหนึ่งในข้อเสนอของแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ

ดร.บัณฑูรกล่าวว่า “มีการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองโลกไปอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่มิติด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของชีวิตปากท้องและความเป็นอยู่”

 

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ตั้งแต่โจ ไบเดนขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2021 นับว่าเป็นจุดกระตุ้นสำคัญของภูมิทัศน์การเมืองโลก โดยมีการริเริ่มการจัดประชุม 2021 Leaders’ Climate Summit ในเดือนเมษายน 2021 จนหลายประเทศออกมาประกาศเป้าหมายของ NDC ที่เข้มข้นขึ้น

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ฝั่งของสหภาพยุโรปมีสิ่งที่น่าจับตามองคือ European Green Deal ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon leakage) ที่มักจะเกิดกับการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่ไม่มีการประกาศควบคุม อาจมีนโยบายทางการค้าระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยมากขึ้น เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือกลไกการเก็บค่าภาษีคาร์บอนที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2023 และ Sustainable Product Initiative หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

ในส่วนของประเทศไทย จะมีกลุ่มบริษัทที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียน เรียกว่า RE100 ซึ่งหมายถึง Renewable Energy 100% โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ทำหน้าที่เป็นผู้ออกใบรับรองหรือ Energy Attibute Certificates (EACs) ปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทในไทยเข้าร่วม RE100 กว่า 500 บริษัท (ที่มา RE100 Thailand CLUB, ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2564)

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

กรอบแผนพลังงานแห่งชาติของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2065-2070 โดยมีองค์ประกอบในการขับเคลื่อนดังต่อไปนี้

  1. ปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เป็น Driving Force คือสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และทิศทางที่เรากำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำท่ามกลางประเทศนานาชาติ
  2. การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ผลกระทบทางลบของเศรษฐกิจ แต่จะยิ่งช่วยเสริมให้เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดนำไปสู่การเพิ่มการลงทุน และตอบโจทย์การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับแผนที่สหภาพยุโรปทำใน European Green Deal
  3. เป็นการผนวกรวมแผนทั้ง 4 แผนเข้าด้วยกันจนกลายเป็นแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) เพื่อสร้างศักยภาพให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ตลอด 24 ชั่วโมงเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่ไทย หากประเทศไม่มีสาธารณูปโภคให้ตามความต้องการ ผู้ลงทุนมีสิทธิ์ที่จะเลือกไปประเทศอื่นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีความสามารถจัดหาพลังงานสีเขียวให้ได้ เพราะฉะนั้น ไทยควรมุ่งไปสู่การผลิตพลังงานสีเขียวโดยเร็ว โดยดำเนินตามนโยบายของแผนพลังงานชาติ ดังนี้
    1. มีการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่มีสัดส่วนของ RE ไม่น้อยไปกว่า 50%
    2. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งให้เป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่าน EV ตามนโยบาย 30@30
    3. ปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากกว่า 30%
    4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามแนวทาง 4D1E – Decentralize, Decarbonize, Digitalize, Deregulation และ Electrification

(งานนำเสนอโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)

โดยแผนพลังงานแห่งชาติที่กล่าวมานี้ กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำและรับฟังข้อคิดเห็น ซึ่งจะสามารถนำเสนอร่างต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ในปี 2565


อ้างอิง
.
Climate Change 2021: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change (2021): Masson-Delmotte, V., P. Zhai, A. Pirani, S. L. Connors, C. Péan, S. Berger, N. Caud, Y. Chen, L. Goldfarb, M. I. Gomis, M. Huang, K. Leitzell, E. Lonnoy, J. B. R. Matthews, T. K. Maycock, T. Waterfield, O. Yelekçi, R. Yu and B. Zhou (eds.) (IPCC_AR6_WGI_SPM.pdf)

สไลด์ประกอบการบรรยายของวิทยากรทุกท่าน https://drive.google.com/drive/folders/1KcdhPu0WgJeI811sz30jBEb9Le52sI1i?usp=sharing

.

เรียบเรียงโดย เสาวพรรณ ใบแย้ม

Share this :