Share this :

ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกก็เห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อนแผดเผา ไปจนถึงปัญหาไข่ไก่เปลือกบางเพราะอากาศร้อนมากเกินไป จนกระทบความมั่นคงทางอาหาร แต่ทำไมการขับเคลื่อนนโยบายทางสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ถึงยากลำบากเสียเหลือเกิน?

แต่เมื่อได้ลองเล่นเกมนี้หนึ่งครั้ง เราก็ได้คำตอบ…

หลังจากที่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงบอร์ดเกมของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาสักพัก Chula Zero Waste ก็ได้จัดกิจกรรม ชวนนิสิต และผู้สนใจมาเล่นบอร์ดเกมไปด้วยกัน และขอถือโอกาสนี้ เล่าถึงบรรยากาศการทำกิจกรรมพร้อมพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเกมนี้ไปด้วยกัน

.

“Climate Change Awareness” เป็นบอร์ดเกมจำลองโลก และความเป็นไปของโลกภายใต้แนวคิดทุนนิยม ในเกมนี้ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นผู้นำประเทศ และจะต้องวางแผนบริหารทรัพยากร พัฒนาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

HOW TO PLAY

วิธีการเล่นเกมนี้ ผู้เล่น (ผู้นำประเทศ) จะต้องทอยลูกเต๋าเพื่อกำหนดสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลานั้น ๆ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่การเล่นเกม ซึ่งเกมนี้จะประกอบไปด้วยทั้งหมด 5 สเตจ

สเตจ 1 : การซื้อขายทรัพยากร 

สเตจ 2 : ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ

สเตจ 3 : การพัฒนาประเทศ

สเตจ 4 : การผลิตทรัพยากร เพื่อใช้สำหรับเกมรอบถัดไป

สเตจ 5 : การโหวตนโยบาย/กฎกติกาโลก

ผู้นำประเทศจะต้องวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคของคนในประเทศ และเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะในระหว่างทางจะมีการคิดคะแนนการบริโภครวมถึงปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน ประเทศไหนที่มีคะแนนการบริโภคมากที่สุด ก็จะได้เป็นผู้ชนะไป

.

บอกเลยว่าเกมนี้ถูกใจคนสายวางแผนสุด ๆ เพราะเล่นเอาเหล่าผู้นำประเทศ (มือใหม่) ถึงกับวางแผนกันหัวหมุนเลยทีเดียวเชียว!

หลังจากที่เล่นเกมกันจบแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงการพูดคุย แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้จากการเล่นเกม บอกเลยว่าแต่ละคนมีมุมมองที่น่าสนใจมาก ๆ Chula Zero Waste จึงขอรวบรวมและสรุปมาให้ทุกคนได้อ่านไปพร้อม ๆ กัน

.

Q.  เกิดอะไรขึ้นบ้างตอนบริหารประเทศของตัวเอง?

“ประเทศนี้อยู่ในเขตอบอุ่นค่อนข้างได้รับผลกระทบน้อย เป็นประเทศที่มีทรัพยากร และมีความร่ำรวย ยิ่งทำให้การพัฒนาอะไรต่าง ๆ เป็นไปได้ง่าย สามารถซื้อทรัพยากรที่ราคาสูง เพื่อเพิ่มการบริโภคในประเทศได้ง่าย ทำให้ได้รับภาษีตอบแทนมาก แม้การพัฒนาบางอย่างจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนอาจต้องเสียพื้นที่ไปบ้าง แต่ประชาชนในประเทศก็ยังสามารถใช้ชีวิตต่อได้โดยไม่ลำบาก”…ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป

 

“ประเทศนี้เป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกข้าวเป็นหลัก พอประเทศที่พัฒนาแล้วสร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดคาร์บอนขึ้นเยอะ พอคาร์บอนมีเยอะก็ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตในประเทศของเราลดลง เพราะได้ผลกระทบจาก Climate Change ทำให้ประเทศของเราไม่เติบโตสักที เพราะประเทศที่เติบโตกว่ามาเบียดบังเรา” …ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศแห่งหนึ่งในยุโรปกำลังวางแผนการใช้เงินเพื่อพัฒนาพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศประเทศแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับกำลังกรีดร้องอยู่ในใจที่ต้องกลายเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผลผลิตต่ำ รายได้น้อย เพราะเกิดภาวะโลกร้อน

.

Q. ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเกม?

“การบริหารประเทศต้องมองเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่องค์รวมสังคมแต่เป็นองค์รวมของโลก ยิ่งตอนโหวตนโยบายหากประเทศมหาอำนาจสนใจแต่จะให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองดีโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเลย อุณหภูมิของโลกก็จะสูงขึ้น ทำให้เราไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ได้ในที่สุด นอกจากนี้ ยังได้รู้มุมมองของผู้บริหารที่ต้องบริหารประเทศถึงการจัดการทรัพยากรว่าเป็นยังไง ทำให้เห็นภาพชัดมาก ๆ ว่าการที่จะแก้ปัญหา Climate Change ได้ทุกฝ่าย ทุกประเทศ ทุกคนบนโลกจะต้องร่วมมือกันและมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ที่จะต้องจัดการจริง ๆ เพราะการกระทำที่ทำร้ายโลกที่เราคิดว่าแค่เพียงเล็ก ๆ ในประเทศของเรา มันส่งผลต่อโลกและก็จะทำให้แก้ปัญหาเพื่อไปสู่โลกที่ยั่งยืนไม่ได้ซักที …ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา

ตัวแทน (ผู้เล่น) ประเทศแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกาได้ให้ความเห็นที่ทำให้เห็นภาพจริง ๆ แถมยังเห็นชัดเจนเลยทีเดียว ว่าปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของทุกพื้นที่บนโลก การจะแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เห็นภาพ และความสำคัญร่วมกันจึงจะช่วยกันแก้ไขปัญหาได้

แน่นอนว่า ในเกมถ้าเราบริหารประเทศจนทรัพยากรขาดแคลน เราก็สามารถกลับมาเล่นซ้ำใหม่อีกครั้งได้ จนกว่าจะมีทรัพยากรเพียงพอ หรือจะเลือกเป็นผู้นำประเทศที่อื่น ๆ ที่มีทรัพยากรเพียงพอและอำนาจในการต่อรองก็ได้อีกเช่นกัน แต่ในชีวิตจริง เราคงไม่สามารถเลือกตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ แล้วก็ไม่สามารถเริ่มเล่นใหม่ซ้ำ ๆ ได้อย่างในเกม อีกทั้งทรัพยากรที่เราสูญเสียไปจากการพัฒนาประเทศก็ไม่สามารถรีเซตกลับมาได้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่ตัวแสดงแทน…

Chula Zero Waste ขอขอบคุณกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ ดร.นงรัตน์ อิสโร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และขอขอบคุณ อ.ภพกฤต ติยะรัตนาชัย และ อ.พรจุติ วงศ์ลี้เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและใช้งานกลไกเกมที่ร่วมดำเนินกิจกรรม

บอร์ดเกม Climate Change Awareness จัดทำขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับนักวิชาการจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายระดับนานาชาติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่มนุษยชาติต้องเผชิญเมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น

หากใครสนใจที่จะจัดกิจกรรมเล่นเกม Climate Change Awareness
สามารถติดต่อ อ.ภพกฤต ได้ทาง facebook page : KRIS board game

 

Share this :