Share this :

ขยะแยกแล้วส่งไปไหนดี เป็นคำถามที่มีหลายคำตอบ จะขายให้ซาเล้งเจ้าประจำก็ได้ จะแพ็คลงกล่องส่งไปโครงการรับขยะรีไซเคิลอื่นๆ ก็ดี หรือจะให้แม่บ้านเอาไปขายก็เข้าท่า 

วันนี้เราอยากมานำเสนออีก 1 คำตอบ ว่าขยะแยกแล้ว ก็ส่งไปชิงโชคได้! แถมรางวัลใหญ่ไม่ใช่ธรรมดาๆ เพราะรางวัลที่ว่าคือทองคำแท่งที่แจกกันทุกเดือน ในแคมเปญแยกขยะลุ้นทองโดยสตาร์ทอัพหน้าใหม่ชื่อ Trash Lucky นั่นเอง ถึงตอนนี้อยากชวนวางมือจากการแพ็คขยะสักครู่ แล้วมาทำความรู้จักกับ Trash Lucky กัน        สักนิด ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นผู้โชคดีคนต่อไปในเดือนหน้าก็ได้

สตาร์ทอัพแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากความรักทะเล

การดำน้ำเป็นกิจกรรมสุดโปรดของคนรักทะเลหลายคน คุณณัฐภัค อติชาตการ หรือคุณแนท หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Trash Lucky ก็เช่นกัน คุณแนทดำน้ำมา 10 ปี และทุกครั้งที่ดำน้ำก็พบกับขยะพลาสติกให้เก็บขึ้นมาด้วยทุกที นับวันขยะพลาสติกในทะเลก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่าหากมนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ภายใน 30 ปีในทะเลจะมีขยะพลาสติกมากกว่าปลา และคนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นทะเลที่สวยงามอีกแล้ว คุณแนทไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปเห็นทะเลที่เต็มไปด้วยพลาสติก แต่อยากให้เห็นทะเลที่สวยงามอย่างที่เขาเคยเห็น ด้วยแรงบันดาลใจนี้ บวกกับประสบการณ์ในการทำงานในวงการสตาร์ทอัพมาก่อน จึงก่อตั้ง Trash Lucky สตาร์ตอัพที่สร้างความสนุกแบบลุ้นๆ ในการแยกขยะด้วยการชวนคนส่งขยะรีไซเคิลมาลุ้นทองคำ

ส่งขยะแบบลุ้นๆ

คนที่แยกขยะเป็นประจำคงคุ้นเคยกับการแยกขยะใส่กล่องส่งไปรษณีย์ไปให้โครงการรับขยะรีไซเคิลกันดี แต่เส้นทางการแยกขยะในแต่ละรอบจะจบลงที่การส่งขยะ สำหรับ Trash Lucky เส้นทางการแยกขยะไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากส่งขยะแล้วยังมีช่วงเวลาให้ลุ้นรางวัลกันต่อ แล้วการลุ้นรางวัลมาจากไหน?

คุณแนทเล่าให้ฟังว่าเราคิดว่าเราจะสร้างแรงจูงใจ สร้างแพลตฟอร์มอย่างไรให้คนอยากแยก ไม่อย่างนั้นเขาก็ทิ้งไปเป็นขยะธรรมดา ปล่อยให้เป็นหน้าที่หรือปัญหาของคนอื่นที่มานั่งแยก แล้วเห็นว่าคนไทย 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่เป็นมูลค่า  250,000 ล้านบาทต่อปี เราก็รู้ว่าคนไทยชอบลุ้น แต่ไม่ค่อยชอบแยก เราก็เลยคิดว่าเราเอาคอนเซปต์นี้มาเล่นก็แล้วกัน ทำให้การรีไซเคิลสูงขึ้น แล้วสำหรับหลายคนการที่เขามีโอกาสได้รางวัลใหญ่มันสร้างแรงจูงใจมากกว่าอะไรที่เขาได้เล็กๆ ก็เลยลองดู เป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนมุมมองให้เขาเห็นคุณค่าของของพวกนี้มากขึ้น ว่ามันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นทองได้นะ เงินก็จะเพิ่มขึ้นมาเพราะเห็นว่าในหลักการ 3Rs การแยกขยะทำได้ง่ายที่สุด จึงเริ่มจากการแยกขยะก่อน แล้วค่อยขยับไปที่การลดและการใช้ซ้ำ

คนที่ส่งขยะมาให้ Trash Lucky จึงมีทั้งสายแยกคือคนกลุ่มที่แยกขยะอยู่แล้วและชักชวนคนในครอบครัว คนรอบตัวมาแยกขยะด้วยกัน Trash Lucky อยากให้คนกลุ่มนี้ได้รับความสะดวกในการแยกขยะมากขึ้น และสายลุ้นคือคนกลุ่มที่ชอบลุ้นรางวัล ซึ่งการมีรางวัลเป็นแรงจูงใจทำให้สายลุ้นที่ชอบชิงโชค ลุ้นรางวัลอยู่แล้วผันตัวมาเป็นคนที่เริ่มแยกขยะและส่งขยะมาให้ Trash Lucky เรื่องน่ารักในการส่งขยะคือมีสมาชิกของ Trash Lucky ครอบครัวหนึ่งที่แต่เดิมทั้งครอบครัวมีคนแยกขยะแค่คนเดียวอยู่หลายปี ชวนพ่อแม่พี่น้องเท่าไหร่ก็ไม่มีใครมาช่วยแยกด้วยสักที แต่เมื่อมี Trash Lucky ให้แยกขยะลุ้นทอง คนทั้งครอบครัวก็พร้อมใจกันมาช่วยแยกขยะเพื่อส่งไปลุ้นทองคำ จนตอนนี้อาม่าที่เคยไม่แยกขยะกลายเป็นมือเหยียบขวด PET ประจำบ้าน เพื่อให้ขวดแบน ส่งได้ครั้งละมากๆ ได้ทั้งการออกกำลังกายและแยกขยะไปในตัว

แยก แลก ลุ้น

แยก แลก ลุ้น คือ 3 ขั้นตอนในการส่งขยะไปให้ Trash Lucky

แยก แยกขยะออกเป็นพลาสติก (รับพลาสติกประเภท 1-PET, 2-HDPE, 5-PP) แก้ว กระดาษ กล่อง UHT กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก

แลก ส่งขยะไปให้ Trash Lucky เพื่อรับแต้มสะสมแลกตั๋วจับรางวัล โดยสามารถส่งขยะได้ 3 วิธี

  1. แพ็คขยะส่งให้ Trash Lucky ทางไปรษณีย์
  2. ซื้อกล่องลังที่รวมค่าส่งแล้วจาก Trash Lucky ทางไลน์ @trashlucky เมื่อรวบรวมขยะรีไซเคิลได้เต็มกล่องแล้วไลน์แจ้งให้มารับ Trash Lucky จะบริการรับขยะรีไซเคิลถึงบ้าน
  3. นำขยะไปส่งที่จุด Drop point ของ Trash Lucky ด้วยตัวเอง โดยส่งได้ที่ออฟฟิศของ Trash Lucky ที่สามเหลี่ยมดินแดง และซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ได้ หรือหากโรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่เข้าร่วมโครงการกับ Trash Lucky ก็นำขยะไปส่งที่จุด Drop point ในสถานที่เหล่านี้ได้เช่นกัน (บางที่อาจจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า)

การส่งขยะไม่มีกำหนดน้ำหนักขั้นต่ำ แต่แนะนำว่าควรรวบรวมให้ได้อย่างน้อย 1 กิโลกรัมเพื่อให้คุ้มกับค่าขนส่ง โดยขยะแต่ละประเภทจะมีคะแนนต่อกิโลกรัม เช่น พลาสติก 1 กิโลกรัม ได้คะแนนสะสม 4 แต้ม กล่องนม 1 กิโลกรัม ได้คะแนนสะสม 5 แต้ม และเมื่อสะสมคะแนนครบทุก 5 แต้มจะแลกตั๋วจับรางวัลได้ 1 ใบ

ลุ้น ลุ้นรางวัลทองคำแท่งและบัตรกำนัลทุกเดือน หากส่งขยะเยอะยิ่งได้ตั๋วจับรางวัลเยอะ โอกาสถูกรางวัลก็มากขึ้นด้วย

นอกจากการแยกขยะลุ้นทอง Trash Lucky จัดเวิร์กชอปให้กับโรงเรียนและคอนโดที่สนใจเข้าร่วมโครงการฟรีๆ โดยเป็นเวิร์กชอปให้ความรู้เรื่องปัญหาขยะพลาสติก หลักการ 3Rs และจบการเวิร์กชอปแล้วสนใจเข้าร่วมโครงการกับ Trash Lucky ก็สมัครได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

วิ่งให้ทันการจัดการขยะของต่างประเทศ

เมื่อมองเรื่องการจัดการขยะในระดับประเทศ ประเทศไทยอยู่ในระดับเพิ่งเริ่มต้น แต่ในทวีปยุโรปเริ่มมาก่อนราว 40-50 ปี และประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ มีการออกนโยบายในการจัดการขยะ ที่น่าสนใจคือนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมและบริษัทใหม่ๆ มารองรับการจัดการขยะให้ดี กระตุ้นให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain เข้ามาใช้ในการจัดการขยะ

เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มจริงจังกับการจัดการขยะ และมีความท้าทายใหญ่ว่าจะจัดการขยะให้ดีขึ้นอย่างไรในระยะเวลาที่น้อยกว่าให้ทันกับความเร่งด่วนของปัญหา ข่าวดีคือในตอนนี้ในเมืองไทยจะมีคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีคนตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือคนที่ลงมือทำ ลงมือแยกขยะ ลดขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะการแยกขยะรีไซเคิลในประเทศไทยในตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยซาเล้งซึ่งไม่มีทางแยกขยะของทุกคนไหว หากทุกคนช่วยกันแยกตั้งแต่แรก อัตราการแยกขยะในประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย

ภาครัฐเองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการจัดการขยะให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกนโยบาย สร้างกลไก และมาตรการต่างๆ เช่น

  1. การสนับสนุนโรงงานรีไซเคิลและธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมในการรีไซเคิล โดยเฉพาะวัสดุที่รีไซเคิลลำบาก เช่น multilayered material ถุงขนมขบเคี้ยว เพราะประเทศไทยยังไม่มีแหล่งรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้
  2. การเพิ่มภาษีเม็ดพลาสติกใหม่ (virgin plastic) เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกใหม่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน และยังมีราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ทำให้ไม่เกิดความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล
  3. การออกแบบสินค้าให้ลดการใช้พลาสติก ในตอนนี้รัฐบาลได้ยกเลิกการพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มแล้ว หากขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ จะดีมาก
  4. การสนับสนุนการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกอย่างจริงจัง รวมทั้งสร้างระบบสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรม
  5. การนำเข้าวัตถุดิบ ต้องมีการตรวจอย่างเข้มงวดว่าไม่มีขยะปนเปื้อนหรือขยะอื่นๆ หลุดรอดเข้ามา รวมทั้งต้องสนับสนุนการจัดการขยะในประเทศให้ดีขึ้น

ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีจุดเริ่มต้น บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดที่ระดับโครงสร้างและบางครั้งจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากจุดเล็กๆ กับความฝันอย่างที่ Trash Lucky มีความมุ่งมั่นว่าอยากให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเขาเอง และลูกหลานเขาด้วย ว่าตอนนี้เรากำลังสร้างมรดกขยะให้คนอื่นต่อไป แต่ยังไม่สายไปถ้าเราจะเริ่มหันมาแยกขยะแล้วก็ลดใช้ หันมาใช้ซ้ำ หันมารีไซเคิล เราจะสามารถส่งมอบโลกที่มันสะอาดกว่า สวยกว่า ให้คนอื่นต่อไปได้

——————————————

Trash Lucky เปิดรับนิสิตนักศึกษาที่สนใจฝึกงานตลอดปี สามารถส่ง CV เขียนจดหมายแนะนำตัวและติดต่อฝึกงานได้ที่อีเมล careers@trashlucky.com

Website https://www.trashlucky.com/

Facebook www.facebook.com/trashlucky

เรื่อง: ลฎาภา อินทรมหา

สัมภาษณ์ คุณณัฐภัค อติชาตการ เมื่อวันที่ 2 เม.. 2564

Share this :